วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติธงชาติไทยสมัยต่างๆ

สมัยโบราณ



ตามหลักฐานต่าง ๆ ปรากฏว่าตั้งแต่สมัยโบราณไทยเรายังไม่มีธงชาติโดยเฉพาะ เมื่อเวลาจัดกองทัพไปทำสงคราม จะใช้ธงสีต่าง ๆ ประจำทัพเป็นเครื่องหมายทัพละสี ต่อมาเมื่อมีการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ธงสีแดงติดเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือสินค้าของไทย จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีเรือฝรั่งเศสแล่นเข้ามาสู่ปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมของไทย ไทยชักธงฮอลันดาขึ้นรับเรือฝรั่งเศส เพราะไม่มีธงชาติของตนเอง แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมสลุตรับธงฮอลันดาเพราะเคยเป็นอริกันมาก่อน และถือว่าไม่ใช่ธงชาติไทย ฝ่ายไทยจึงแก้ไขโดยนำ"ธงแดง" ขึ้นชักแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมสลุตคำนับ ตั้งแต่นั้นมาธงสีแดงจึงกลายเป็นธงชาติของไทยเรื่อยมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์



ไทยยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงและเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นที่ต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้จัดทำรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยงอยู่

รัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 3)



พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2360 - 2366 โปรดให้ส่งเรือกำปั่นหลวงไปค้าขายระหว่างกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และมาเก๊า ซึ่งเป็นสถานีค้าขายของอังกฤษ โดยโปรดให้ติดธงสีแดง แต่ ปรากฏว่าไปเหมือนกับธงเรือสินค้าของชาติมาลายูเจ้าเมือง สิงคโปร์ จึงขอให้เรือไทยใช้ธงสีอื่นให้ต่างกันออกไป ในระยะนั้นประจวบกับมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร

รัชกาลที่ 4



รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกในพ.ศ. 2398 มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้น และมีสถานกงสุล ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านั้นล้วนชักธงชาติของตนขึ้นเป็นของตนขึ้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้องมีธงชาติที่แน่นอน จึงทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกตไม่สมควรใช้อีกต่อไป ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรออกเสียเพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง

รัชกาลที่ 5



ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง คือพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ.110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 ทุกฉบับได้ยืนยันลักษณะของธงชาติว่าเป็นธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือก ไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น

รัชกาลที่ 6



ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2459 แก้ไขลักษณะธงชาติเป็นธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา ประกาศนี้เริ่มให้บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2459 (ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่ )

สงครามโลกครั้งที่ 1



ในพ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงพระราชดำริว่า การประกาศสงครามนับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจ สำหรับวาระนี้ไว้ภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ "ธงชาติ" ทรงเห็นว่าลักษณะที่แก้ไขใน พ.ศ. 2459 นั้น ยังไม่สง่างาม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มแถบน้ำเงินแก่ขึ้นอีกสีหนึ่งเป็นสามสี ตามลักษณะของธงนานาชาติที่ใช้กันอยู่ เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่าไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และอีกประการหนึ่งสีน้ำเงินเป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ จึงเป็นสีที่ควรประดับไว้ในธงชาติไทย ดังนั้นในปี 2460 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ธง พระพุทธศักราช 2460 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 มีผลบังคับภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน ลักษณะธงชาติมีดังนี้ คือ
เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีนำเงินแก่กว้าง 1 ใน 3 ของความกว้างของธงอยู่กลาง มีแถบสีขาวกว้าง 1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ และ พระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" ส่วนธงรูปช้างกลางธงพื้นแดงของเดิมนั้นให้ยกเลิก ความหมายของสีธงไตรรงค์คือ สีแดงหมายถึงชาติ และ ความสามัคคี ของคนในชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ สีนำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ

รัชกาลที่ 7 จนถึงปัจจุบัน

ครั้นถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ได้มีพระราชบันทึกพระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร ปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไปตามพระราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติธงซึ่งยังคงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติเช่นเดิมแต่ ได้อธิบายลักษณะธงไว้เข้าใจง่ายและชัดเจน ดังนี้ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีจาบต่อจากแถบสีจาบออกไปสองข้าง ๆ ละ 1 ส่วนใน 6 ส่วนเป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดง นับแต่นั้นมาไม่มีข้อความใดๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติอีก ธงไตรรงค์ จึงเป็นธงชาติไทยสืบมาจนปัจจุบัน



บันทึกประวัติศาสตร์ !! กับการเสียดินแดนของไทย 14 ครั้ง

"เสียครั้งแรกเกาะหมากจากแผนผัง
เขาเปลี่ยนเป็นปีนังจำได้ไหม
นั่นแหละจากขวานทองเล่มของไทย
หนึ่งร้อยกว่าตารางไมล์หลักฐานมี  "

ครั้งที่ 1 เกาะหมาก(ปีนัง) เสียให้กับประเทศอังกฤษ เมื่อ 11 สิงหาคม 2329 พื้นที่ 375 ตร.กม. ในสมัย ร.1 เกิดจาก พระยาไทรบุรี ให้อังกฤษเช่าเกาะหมากเพื่อหวังจะขอให้อังกฤษคุ้มครองเกาะหมากจากกองทัพ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพมาจัดระเบียบหัวเมืองปักษ์ใต้ ในที่สุดอังกฤษก็ยึดเอาไป


"ครั้งที่สองเสียซ้ำยังจำได้
เสียมะริดและทวายตะนาวศรี
ปีสองพันสามร้อยยี่สิบหกโชคไม่ดี
เสียเนื้อที่กว่าสองหมื่นตารางไมล์ "

ครั้งที่ 2 มะริด ทวาย ตะนาวศรี ให้กับพม่า เมื่อ 16 มกราคม 2336 พื้นที่ 55,000 ตร.กม. ในสมัย ร.1 แต่เดิมเป็นของไทยครั้งสมัยสุโขทัย มังสัจจา เจ้าเมืองทวายเป็นไส้ศึกให้พม่า รัชกาลที่ 1 ไม่สามารถตีคืนจากพม่าได้ ประกอบกับชาวเมืองทวายไม่พอใจกองทัพไทยที่เข้ายึดครอง จึงตกเป็นของพม่าไป



"ครั้งที่สามบันทายมาศถูกตัดเฉือน
แล้วเปลี่ยนเป็นฮาเตียนตั้งชื่อใหม่
ปีสองพันสามร้อยหกสิบสามแสนช้ำใจ
เสียเนื้อที่เท่าไรไม่ปรากฎในบทความ "


      ครั้งที่ 3 บันทายมาศ(ฮาเตียน) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2336 ในสมัยรัชกาลที่ 2



"ครั้งที่สี่เจ็บแค้นเสียแสนหวี
กินเนื้อที่ถึงเชียงตุงเหนือกรุงสยาม
ตั้งหกหมื่นตารางกิโลโถมันทำ
ใครสร้างกรรมเดี๋ยวนี้เห็นดีกัน"

  ครั้งที่ 4 แสนหวี เมืองพง เชียงตุง ให้กับพม่าเมื่อ พ.ศ.2368 พื้นที่ 62,000 ตร.กม.ในสมัย รัชกาลที่ 3    แต่เดิมเราได้ดินแดนนี้มาในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระเจ้ากาวิละ ยกทัพไปตีมาขึ้นอยู่กับไทยได้ 20 ปี เนื่องจากเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลประกอบกับเกิดกบฏเจ้าอนุเวียงจันทร์และ เกิดกบฏทางหัวเมืองปักษ์ใต้(กลันตัน ไทรบุรี) ไทยจึงห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่มีกำลังใจจะยึดครอง หลังจากนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เชียงตุงก็เป็นของอังกฤษโดยสิ้นเชิง




"ครั้งที่ห้ามาเสียรัฐเปรัค
เขาหาญหักผลักล้มเชือดคมขวาน
ปีสองพันสามร้อยหกสิบเก้าแสนร้าวราน
ต่างหยิบขวานขึ้นถือกู้ชื่อไทย "

  ครั้งที่ 5 รัฐเปรัค ให้กับอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการสูญเสียที่ทำร้ายจิตใจ คนไทยทั้งชาติ เพราะเป็นการสูญที่ห่างจากครั้งก่อนไม่ถึง 1 ปี



"ครั้งที่หกอกตรมเดินก้มหน้า
เสียสิบสองพันนาน้ำตาไหล
ตั้งเก้าหมื่นกิโลโถทำได้
แทบขาดใจต่อสู้ศัตรูมา"


ครั้งที่ 6 สิบสองปันนา ให้กับจีนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2397 พื้นที่ 90,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นดินแดนในยูนานตอนใต้ของประเทศจีน เมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองหลวงของไทยสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเอง แสนหวีฟ้า มหาอุปราชหนีลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกณฑ์ทัพเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ไปตีเมืองเชียงตุง (ต้องตีเมืองเชียงตุงให้ได้ก่อนจึงจะได้เชียงรุ้ง) แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่พร้อมเพรียงกัน  มาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ให้กรมหลวงลวษาธิราชสนิท (ต้นตระกูลสนิทวงศ์) ยกทัพไปตีเชียงตุงเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่สำเร็จจึงต้องเสียให้จีนไป


"ครั้งที่เจ็ดเสียดินแดนแคว้นเขมร
เกิดพิเรนเพราะฝรั่งกำลังบ้า
เที่ยวออกล่าเมืองขึ้นชื่นอุรา
เสียอีกหนึ่งแสนกว่าตารางกิโล"


ครั้งที่ 7 เขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2410 พื้นที่ 124,000 ตร.กม. ในสมัย ร.4 ฝรั่งเศส บังคับให้เขมรทำสัญญารับความคุ้มครองจากฝรั่งเศส หลังจากนั้นได้ดำเนินการทางการฑูตกับไทย ขอให้มีการปักปันเขตแดนเขมรกับญวน แต่กลับตกลงกันไม่ได้ ขณะนั้นพระปิ่นเกล้า แม่ทัพเรือสวรรคต ไทยจึงอ่อนแอ ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสบังคับทำสัญญารับรองความอารักขาจากฝรั่งเศสต่อเขมร ในช่วงนี้เอง อังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญากันเมื่อ 15 มกราคม 2438 โดยตกลงกันให้ไทยเป็นรัฐกันชน ประกอบกับ การดำเนินนโยบายของ ร.5 ที่ไปประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง ทำให้อังกฤษ เยอรมัน รัสเซียเห็นใจไทย ฝรังเศสจึงยึดดินแดนไป


"ครั้งที่แปดเสียแคว้นดินแดนใหม่
ชื่อสิบสองจุไทยก็ใหญ่โข
เป็นเนื้อที่อีกแปดหมื่นตารางกิโล
ต้องร้องโฮใจระเ่ยเพราะเสียดาย"


 
ครั้งที่ 8 สิบสองจุไทย (เมืองไล เมืองเชียงค้อ) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ  22 ธันวาคม 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัย รัชกาลที่ 5 พวกฮ่อ ก่อกบฏ ไทยจัดกำลังไปปราบ 2 กองทัพ แต่ปฏิบัติเป็นอิสระแก่กัน อีกทั้งแม่ทัพทั้งสองไม่ถูกกัน จึงเป็นโอกาสให้ฝรั่งเศสส่งทหารเข้าเมืองไล โดยอ้างว่า มาช่วยไทยปราบฮ่อ แต่หลังจากปราบได้แล้ว ก็ไม่ยอมยกทัพกลับ อีกทั้งไทยก็ไม่ได้จัดกำลังไว้ยึดครองอีกด้วย จนในที่สุด ไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญากันที่เมืองแถง(เบียนฟู) ยอมให้ฝรั่งเศสรักษาเมืองไลและเมืองเชียงค้อ



"ครั้งที่เก้าเศร้าแสนแค้นไม่สิ้น
เสียลุ่มน้ำสาละวินด้านฝั่งซ้าย
สิบสามหัวเมืองต้องจำเหมาให้เขาไป
ใครที่ทำช้ำใจไทยต้องจำ "



ครั้งที่ 9 ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน ให้กับประเทศอังกฤษในสมัย รัชกาลที่ 5 ในห้วงปี 2433 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและทรัพยากร อันอุดมด้วยดินแดนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง



"ครั้งที่สิบเลียบลำแม่น้ำโขง
ถูกเขาโกงฝั่งซ้ายเพราะไทยถลำ"


ครั้งที่ 10 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ 3 ตุลาคม 2436 พื้นที่ 143,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร ต้องเสียให้กับฝรั่งเศสตามสัญญาไทยกับฝรั่งเศส เท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสเรียกเงินจากไทย 1 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่ต้องรบกับไทย เสียค่าประกันว่าไทยต้องปฏิบัติตามสัญญาอีก 3 ล้านบาท และยังไม่พอฝรั่งเศสได้ส่งทหารมายึดเมืองจันทบุรีและตราด ไว้ถึง 15 ปี นับว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดของไทยถึงขนาดที่เจ้านายฝ่ายในต้องขายเครื่อง แต่งกายเพื่อนำเงินมาถวาย ร.5  เป็นค่าปรับ ร.5 ต้องนำถุงแดง(เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้

"ครั้งที่สิบเอ็ดเสียฝั่งขวานั่งหน้าดำ
มันเจ็บช้ำฝังจำอยู่กลางใจ"


ครั้งที่ 11 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง(ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ดินแดนในทิศตะวันออกของน่าน,จำปาศักดิ์   ,มโนไพร)ให้กับฝรั่งเศสเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2446 พื้นที่ 25,500 ตร.กม. ในสมัย.ร.5ไทยทำสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อขอให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีให้ไทย แต่ฝรั่งเศสถอนไปแต่จันทบุรีแล้วไปยึดเมืองตราดแทนอีก 5 ปี แล้วเมื่อฝรั่งเศสได้หลวงพระบางแล้วยังลุกล้ำบ้านนาดี,ด่านซ้าย จ.เลย และยังได้เอาศิลาจารึกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ไปด้วย



"ครั้งที่สิบสองใจรันทดเพราะหมดท่า
เสียมณฑลบูรพาอีกจนได้
เขามาพรากจากแหลมทองถิ่นของไทย
อีกสองหมื่นตารางไมล์โดยประมาณ "


ครั้งที่ 12 มลฑลบูรพา(พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ 23 2449 พื้นที่ 51,000 ตร.กม. ในสมัย ร.5 ไทยได้ทำสัญญากับฝรังเศส เพื่อแลกกับ ตราด,เกาะกง,ด่านซ้าย ตลอดจนอำนาจศาลไทยที่จะบังคับต่อคนในบังคับของฝรั่งเศสในประเทศไทย เพราะขณะนั้นมีคนจีนญวนไปพึ่งธงฝรั่งเศสกันมากเพื่อสิทธิการค้าขาย ฝรั่งเศสก็เพียงแต่ถอนทหารออกจากตราดเมื่อ 6 กรกฎาคม 2450 กับด่านซ้าย คงเหลือแต่เกาะกงไม่คืนให้ไทย




"ครั้งที่สิบสามเสียตรังกานูไทรบุรี
ในแผนที่มองเห็นเป็นหลักฐาน
ไปถึงปะลิสติดรัฐกลันตัน
อีกสามหมื่นโดยประมาณตารางไมล์"



ครั้งที่ 13 ในสมัยรัชกาลที่ เสียหัวเมืองมลายู
(รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี) เมื่อ พ.ศ. 2451 ให้กับอังกฤษ
จำนวนพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร
เพื่อแลกกับอังกฤษยกเลิกสิทธิภาพนอกอาณาเขต
และให้ไทยกู้เงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
ปัจจุบันเป็นของมาเลเซีย





"ครั้งที่สิบสี่เสียเขาพระวิหาร
ปัจจุบันเป็นของเขมรท่านเห็นไหม"



ครั้งที่ 14 เขาพระวิหาร ให้กับเขมรเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 พื้นที่ 2 ตร.กม. ในสมัย ร.9 ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร เนื่องมาจากหลักฐานสำคัญของเขมร   ในสมัยที่เป็นของฝรั่งเศส เมื่อรู้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเขาพระวิหาร จึงไปก่อนแล้วชักธงชาติฝรั่งเศสรับเสด็จ แล้วจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จึงนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อศาลโลก






รวมพื้นที่ที่เสียไป 782,877 ตร.กม.
จากพื้นที่ 1,294,992 ตร.กม. ในอดีต
ปัจจุบันเรามีพื้นที่ให้เหยียบกันอยู่เพียง
512,115 ตร.กม.
เหลือน้อยกว่าที่เราเสียไปซะอีก
แล้วเราจะยอมเสียดินแดนเป็นครั้ง 15 อีกหรือ ??

เหตุปะทะกันบริเวณชายแดน พ.ศ. 2554

กุมภาพันธ์

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระหว่างการปะทะกันนานถึง 4-5 ชั่วโมง สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 2-3 นาย ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และมีการจับกุมทหารไทยไป 5 นาย พลเรือนไทยคนหนึ่งเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันอีกรอบ ทหารไทย 1 นาย ถูกจับกุมระหว่างการปะทะ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ CNN รายงานว่า ไทยได้ถล่มกัมพูชายับเยินโดยยิงปืนใหญ่ 155 มม. ปูพรมไปทั่วแดนกัมพูชา ถนนและฐานทหารเสียหายมากมาย รถถังและรถหุ้มเกราะกัมพูชาเสียหายใช้การไม่ได้กว่าสามสิบคัน ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิตของทหารกัมพูชายังมิอาจประเมินได้เนื่องจากพื้นที่ไฟไหม้ แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าหกร้อยนาย

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศ พื้นที่ตำบลเสาธงชัย หมู่ที่ 2 3 9 10 12 13 และตำบลรุง หมู่ที่ 5 7 10 อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดศรีสะเกษ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษณ์ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือชี้แจงถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[40]
ทางการมีการประกาศให้ประชาชนเข้าไปในหลุมหลบภัย และมีการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ของประชาชน เพื่อป้องกันการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธหนักยิงเข้ามา ด้าน พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า การปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.40 น. เริ่มจากทางทหารกัมพูชายิงพลุส่องสว่างเข้ามาตกที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ หลังจากนั้นทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่ของรถถังเข้ามาอีก ทำให้ทหารไทยต้องใช้มาตรการตอบโต้ โดยยิงเครื่องยิงลูกระเบิดสวนกลับไป
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554: ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ลงความเห็นปฏิเสธข้อเรียกร้องของสมเด็นฮุน เชน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ต้องการให้จัดประชุมฉุกเฉินประเทศสมาชิกคณะมนตรีฯ 15 ชาติและส่งกำลังทหารเข้ามารักษาความสงบในพื้นที่พิพาท โดยระบุควรแก้ไขปัญหากันเองในระดับภูมิภาค วันเดียวกัน ไม่มีเหตุปะทะกันเพิ่มเติม แต่มีรายงานว่าทหารกัมพูชาได้ใช้ช่วงที่ยังหยุดยิงกันอยู่นี้ขุดที่ตั้งใหม่และจัดตั้งกระสอบทรายเพิ่มเติม ทหารไทยนายหนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงปืนใหญ่เมื่อวันที่ 6 เสียชีวิตเนื่องจากพิษบาดแผลที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นายกษิต ภิรมย์ได้แถลงด้วยวาจาต่อประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในถ้อยแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศระบุใจความตอนหนึ่งว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ที่ได้ตกลงกันใน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ณ ช่องสะงำในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดยิงทันที ผู้บังคับการทหารระดับภูมิภาคของไทยและฝ่ายกัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจา

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้เกิดการปะทะกันรอบใหม่ขึ้น เหตุยิงกันดังกล่าวกินเวลาไม่กี่นาที ถึงแม้ว่าสื่อท้องถิ่นจะรายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 5 นาย แต่กองทัพออกมาระบุว่ามีทหารได้รับบาดเจ็บ 1 นายจากการสู้รบ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ การปะทะกันทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีการปะทะกันถึงสามครั้งในวันนี้ (5.00 น., 20.00 น., 22.00 น.) แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย โฆษกกองทัพบกไทย สรรเสริญ แก้วกำเนิด ระบุว่า ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้เริ่มโจมตีก่อน โดยใช้ปืนครกและอาร์พีจี ทำให้ฝ่ายไทยต้องทำการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ปาย สิฟาน โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชาปฏิเสธว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และกล่าวตรงกันข้าม กัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อป้องกันมิให้มีการสู้รบเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่ไทยกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขในระดับทวิภาคี ในวันเดียวกัน มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ารถถังเวียดนามได้มุ่งหน้ามายังชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน ปฏิเสธรายงานดังกล่าว
ในความตกลงซึ่งบรรลุในการประชุมอาเซียนในจาการ์ตา กัมพูชาและไทยตกลงที่จะให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียสังเกตพื้นที่พิพาทพรมแดน โดยมีทั้งทหารและพลเรือนรวม 40 คน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกมาระบุว่า คณะที่ส่งไปนั้นมิใช่เพื่อรักษาสันติภาพหรือใช้กำลังให้เกิดสันติภาพ โดยคณะดังกล่าวจะไม่ติดอาวุธ

[แก้] เมษายน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554 ทางการไทยได้ยอมรับว่ามีการใช้กระสุนระเบิดทวิประสงค์ (DPICM) ระหว่างการปะทะกันจริง ซึ่งถูกระบุตามจากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือต่อต้านระเบิดลูกปราย (CMC) ว่าเป็นระเบิดลูกปรายประเภทหนึ่ง โดยอาวุธดังกล่าวประกอบด้วยระเบิดมือขนาดเล็กนับหลายร้อยลูก หรือลูกปราย ซึ่งกระจายไปกินอาณาบริเวณกว้าง และถูกห้ามโดยประเทศส่วนใหญ่ตามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา แต่ได้ให้สัญญาอย่างเปิดเผยว่าจะไม่ใช้อาวุธดังกล่าว ทาง CMC กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการใช้ระเบิดลูกปรายที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกนับตั้งแต่อนุสัญญาได้กลายมาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
ปราสาทตาเมือนธม

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ในช่วงเช้าได้เกิดการปะทะกันขึ้นบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ด้านปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก เรื่อยมาจนถึงปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บอีก 14 นาย มีการพบลูกกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายทหารเขมรยิงเข้าตกมายังฝั่งไทยที่บริเวณฝายน้ำล้น บ้านสายโท 12 ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ 1 ลูก พร้อมได้ยินเสียงปืนดังตลอดเวลาจึงต้องทำการอพยพ ชาวบ้าน ราว 2,500 คนออกจากพื้นที่ ทางกระทรวงต่างประเทศไทยส่งหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงที่สุดผ่านเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย หลังจากเกิดเหตุการณ์การปะทะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประกาศอำเภอบ้านกรวดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภาวะสงครามทั้งอำเภอ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ บริเวณปราสาทตาเมือนธม หมู่ที่ 8 ตำบลตาเมียง พื้นที่ หมู่ที่ 1-15 ตำบลแนงมุด หมู่ที่ 1-14 ตำบลโคกตะเคียน หมู่ที่ 1-20 ตำบลกาบเชิง หมู่ที่ 1-18 ตำบลด่าน หมู่ที่ 1-9 ตำบลตะเคียน อำเภอพนมดงรัก ในพื้นที่หมู่ที่ 1-20 ตำบลบักได หมู่ที่ 1-12 ตำบลตาเมียง หมู่ที่ 1-12 ตำบลจีกแดก หมู่ที่ 1-11 ตำบลโคกกลาง จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 2 ตำบล เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศและพลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้แถลงตอนหนึ่งว่า ในเวลานี้ไม่จำเป็นต้องเจรจากับใครหากชาติไทยถูกลุกล้ำ หรือถูกภัยคุกคามประเทศ ก็พร้อมที่จะใช้กำลังตอบโต้จนถึงที่สุด และได้สั่งการเตรียมพร้อมยกระดับแผนป้องกันประเทศ

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ อำเภอกาบเชิง ยกเว้นอำเภอคูตัน อำเภอปราสาท บางอำเภอ จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศและมีทหารไทยเสียชีวิตเพิ่ม 1 นาย ด้านกัมพูชามีการอพยพประชาชนราว 5,000 คนในจังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยย้ายออกไป 30 กิโลเมตรจากเขตสู้รบ

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สาม ทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สี่ อาสาสมัครทหารพราน 1 นายเสียชีวิต นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่ที่ 1, 4, 6, 7, 9, 12, 13, 16, 18 ตำบลโคกสะอาด และหมู่ที่ 4,12 ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่าการจะประกาศสงครามกับประเทศกัมพูชาจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน มีรายงานว่าจนถึงขณะนี้ ทหารไทยเสียชีวิต 6 นาย และได้รับบาดเจ็บ 31 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 7 นาย และได้รับบาดเจ็บ 17 นาย  นายกษิต ภิรมย์รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศประกาศทบทวนนโยบายต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด โดยอ้างว่าทางการกัมพูชาไม่ต้องการการเจรจาจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการ

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554 โฆษกกระทรวงกลาโหมประเทศไทย ได้แถลงว่ากองทัพมีความพร้อมทางยุทโธปกรณ์ ที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศและตอบโต้ตามความเหมาะสม กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้อยแถลงนี้เกิดขึ้นมีขึ้นหลังจากการประชุมสภากระทรวงกลาโหมได้เสร็จสิ้นลง และหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศทบทวนนโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด ในขณะที่การปะทะได้ลุกลามออกไปที่จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2554 ชาวบ้าน อำเภอกาบเชิง เสียชีวิต 1 คนและวัว เสียชีวิต 1 ตัว สาเหตุจากการถูกสะเก็ตระเบิด

**จากเหตุปะทะกันที่เกิดขึ้นข้างต้นนั้น น่าจะเกิดจากความไม่เด็ดขาด ของนายกและรัฐบาลไทย จึงทำให้กัมพูชากล้าที่จะทำสงครามกับประเทศไทย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า มีอาวุธเยอะว่า ดีกว่า แต่รัฐบาลไทยก็ยังปล่อยให้กัมพูชายิงทหารไทย ประชาชนไทย โดยที่ทหารไทย ทำได้แค่ยิงตอบโต้กลับไปเท่านั้น ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป รัฐบาลยังเห็นแก่ประโชยน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติและประชาชน ผมคิดว่าอีกไม่นานประเทศไทยคงจะต้องเสียดินแดนครั้งที่ 15 ให้กับประเทศกัมพูชา แบบที่เราเคยเสียให้ฝรั่งเศษเป็นแน่ ส่วนที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ ประเทศกัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของเรามาก่อนในอดีต แต่ทุกวันนี้เรากลับต้องสุ่มเสี่ยต่อการเสียดินแดนให้กับประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเรา นั้นเป็นเรื่องที่น่าอัปอายมาก